Thursday, May 3, 2012
ไขมันแปลงสภาพ เสี่ยงต่อโรคหัวใจ
ผลการงวิจัยของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่าคนที่รับประทาน “ไขมันแปลงสภาพ” (Trans fatty acid) มากจะเสี่ยงต่อโรคหัวใจเป็น 2 เท่าของคนที่รับประทานน้อย แต่อะไรคือไขมันแปลงสภาพกันแน่ ลองมาทำความรู้จักกันดีกว่าค่ะ
“ไขมันแปลงสภาพ” เป็นผลจากความพยายามทำไขมันจากพืชให้มี กลิ่น รส สีสันคล้ายไขมันสัตว์เนื่องจากเมื่อประชาชนเริ่มรู้อันตรายจากไขมันสัตว์และกินน้อยลง ผู้ผลิตได้แปลงไขมันพืชด้วยขบวนการที่เรียกว่า ไฮโดรจีเนชั่น (Hydrogenation ) ทำให้น้ำมันพืชเปลี่ยนรูปไปเป็นไขมันก้อนคล้ายเนย อาหารสำเร็จรูปส่วนใหญ่จะใช้ไขมันแปลงสภาพผสมแทนไขมันสัตว์เพื่อลดต้นทุนและสร้างภาพอาหารสุขภาพ นอกจากนี้ยังสามารถวางขายในตลาดได้นานขึ้นโดยไม่เหม็นหืน ทำให้อาหารเหล่านี้มีหน้าตาดีและรสชาดดีกว่าการใช้น้ำมันพืชจึงนิยมใช้กันมากในอุตสาหกรรมผลิตอาหารจำพวกฟาสต์ฟู้ด ขนมปัง เค้ก ของขบเคี้ยว ของหวานประเภทสอดไส้และพิซซ่า
เมื่อวัฒนธรรมการบริโภคของคนเมืองทุกวันนี้กำลังเปลี่ยนไป มีการบริการส่งพิซซ่าถึงบ้าน ไอศกรีม แฮมเบอร์เกอร์ ชีสเบอร์เกอร์มีขายริมถนน ไม่น้อยหน้าขนมครกหน้ากะทิข้นคลั่กหรือปาท่องโก๋ทอดน้ำมันปาล์ม ไม่แปลกอะไรที่โรคหัวใจจะไต่อันดับขึ้นเป็นโรคร้ายแรงของสังคมยุคใหม่ และแม้ว่าไขมันแปลงสภาพจะทำจากไขมันพืชก็จริงแต่สามารถเพิ่มปริมาณโคเลสเตอรอลชั้นเลว LDL และลดปริมาณโคเลสเตอรอลชั้นดี HDL ซึ่งมีประโยชน์และส่งผลยิ่งกว่าไขมันสัตว์เสียอีก
วิธีป้องกันไม่ให้เผลอรับประทานไขมันแปลงสภาพ นอกจากต้องหลีกเลี่ยงบรรดาอาหารฟาสต์ฟู้ดและขนมเบเกอรี่ทั้งหลายแล้ว เราอาจต้องอ่านฉลากอาหารให้ดีและตรวจสอบว่าอาหารชนิดนั้นมีไขมันดัดแปลงในปริมาณมากหรือไม่ ถ้ามีก็ควรหลีกเลี่ยง
บทความโดย: เขมิกา โรจน์ทังคำ
หน่วยส่งเสริมสุขภาพ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment